การจมน้ำ ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง ในเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ยสูงถึง 904 คน ต่อปี หรือวันละ 2.5 คน  และในช่วงเดือน มีนาคม – พฤษภาคม เป็นเดือนที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด เพราะตรงกับช่วงปิดเทอมและอยู่ในฤดูร้อน

                    นายแพทย์สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ในช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นไปเป็นช่วงปิดเทอมและเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งจะพบอุบัติการณ์เด็กจมน้ำเสียชีวิตตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นจำนวนมาก จากข้อมูลของกรมควบคุมโรค ในปี 2566 ประเทศไทยพบรายงานผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำทุกกลุ่มอายุ  891 ราย ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 287 ราย สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 7 (จังหวัดขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์) มีรายงานอุบัติการณ์ทั้งสิ้น 49 เหตุการณ์ เสียชีวิตทุกกลุ่มอายุ  57 ราย พบเป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี 27 ราย สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำตามธรรมชาติ ได้แก่สระน้ำ ฝาย คลอง หนองน้ำ อ่างเก็บน้ำ บ่อน้ำ ช่วงเวลาที่เกิดเหตุสูงสุดคือช่วง 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น จากข้อมูลปี 2561-2566 พบว่าผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการจมน้ำส่วนใหญ่ เกิดเหตุในช่วงปิดเทอมฤดูร้อน ช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ช่วงฤดูน้ำหลากเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม และช่วงปิดเทอมฤดูหนาว เดือนตุลาคม – พฤศจิกายน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมการลงเล่นน้ำ หรือพลัดตกลงไปในแหล่งน้ำแล้วขาดทักษะในการว่ายน้ำและการเอาชีวิตรอด ผู้เสียชีวิตไม่สวมใส่เสื้อชูชีพหรืออุปกรณ์ช่วยลอยตัว ขาดการดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครอง แหล่งน้ำที่เป็นแหล่งเสี่ยงตามธรรมชาติที่อยู่ในชุมชน ส่วนใหญ่ไม่มีการจัดการให้เกิดความปลอดภัย เช่น การกั้นรั้ว การปักป้ายเตือน การติดตั้งอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉิน  ขาดทักษะในการช่วยชีวิตที่ถูกต้อง อักทั้งการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุล่าช้า

https://www.thaihealth.or.th/%e0%b8%ab%e0%b8%a1%e0%b8%ad%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%99-%e0%b8%9b%e0%b8%b4%e0%b8%94%e0%b9%80%e0%b8%97%e0%b8%ad%e0%b8%a1%e0%b8%ab%e0%b8%99%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%89%e0%b8%ad/