เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากเหตุการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วและความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างหลากหลาย ประชาชนจำนวนไม่น้อยจึงเกิดภาวะความเครียดจากสถานการณ์ดังกล่าว หรือที่เรียกว่า Political Stress Syndrome (PSS) ซึ่งแม้จะมิใช่โรคทางจิตเวชโดยตรง แต่เป็นปฏิกิริยาทางอารมณ์และจิตใจที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ติดตามข่าวสารทางการเมืองอย่างใกล้ชิด หรือมีแนวโน้มเอนเอียงไปทางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างชัดเจน จนทำให้เกิดอาการทั้งทางร่างกาย จิตใจ และส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น

                    นพ.กิตติศักดิ์ กล่าวต่อว่า มีลักษณะสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.อาการทางร่างกาย ได้แก่ อาการปวดตึงบริเวณขมับหรือต้นคอ หายใจไม่อิ่ม ใจสั่น นอนไม่หลับ หรือมีอาการแน่นท้อง 2.อาการทางจิตใจ เช่น ความหงุดหงิดง่าย โกรธ ฉุนเฉียว เบื่อหน่าย ฟุ้งซ่าน หรือหมกมุ่นกับข้อมูลทางการเมืองจนเกิดความเครียด และ 3.ปัญหาทางพฤติกรรม เช่น การโต้แย้งหรือโต้เถียงโดยใช้อารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในครอบครัว หรืออาจถึงขั้นใช้ความรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์

                    ดังนั้น ประชาชนจึงควรมีสติในการรับฟังข้อมูลอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงผลกระทบจากการแสดงความคิดเห็นหรือใช้ถ้อยคำที่รุนแรง เพราะแม้เจตนาจะเป็นการสื่อสารข้อเท็จจริง แต่หากขาดความระมัดระวังอาจก่อให้เกิดความเกลียดชังและทำให้สถานการณ์มีความตึงเครียดเพิ่มมากขึ้น

https://www.thaihealth.or.th/%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b8%b7%e0%b8%ad%e0%b8%99-%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%9e%e0%b8%82%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b9%80%e0%b8%84%e0%b8%a3%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b8%94-%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b5/