นอกจากโควิด-19 ที่ต้องระวังแล้ว ยังมีโรคมือ เท้า ปาก ก็ต้องระวังเช่นกัน เนื่องจากเป็นโรคที่พบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็ก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กอนุบาล ซึ่งขณะนี้สถานศึกษาเปิดการเรียนการสอนตามปกติ อาจมีการทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่กระจายเชื้อโรคได้ง่าย
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์ของโรคมือ เท้า ปาก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 พบผู้ป่วย 3,107 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต ช่วงอายุที่พบมากที่สุดคือ เด็กแรกเกิด-4 ปี ร้อยละ 88.77 อายุ 5 ปี ร้อยละ 4.31 และอายุ 7-9 ปี ร้อยละ 3.12 ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ พะเยา เชียงราย แพร่ สุราษฎร์ธานี และน่าน
มือ เท้า ปาก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งเชื้อไวรัสจะติดมากับมือหรือของเล่นที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากแผลตุ่มพองหรืออุจจาระของผู้ป่วย หรือติดต่อจากการไอ จาม รดกัน หลังได้รับเชื้อจะมีอาการไข้ต่ำๆ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ต่อมา 1-2 วัน มีอาการเจ็บปาก ร่วมกับมีตุ่มพองเล็กๆ บริเวณฝ่ามือฝ่าเท้า ตุ่มแผลในปาก เพดานอ่อน กระพุ้งแก้ม ลิ้น และจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ หากอาการไม่ดีขึ้น เช่น มีไข้ขึ้นสูง ซึมลง เดินเซ ชักเกร็ง หายใจหอบเหนื่อย อาเจียนมาก ต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจติดเชื้อโรคมือ เท้า ปากชนิดรุนแรง อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
เน้นย้ำผู้ปกครองสังเกตอาการของเด็กก่อนส่งไปสถานศึกษา ส่วนสถานศึกษาขอให้เคร่งครัดมาตรการคัดกรอง และสังเกตอาการเด็กร่วมกับมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ก่อนเข้าเรียนทุกเช้า และแนะนำวิธีป้องกันโรคมือ เท้า ปาก โดยให้เด็กสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย 100% หมั่นทำความสะอาดพื้นที่ที่เด็กใช้ร่วมกัน ของใช้ ของเล่นเด็กเป็นประจำเพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม หมั่นให้เด็กล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหารหรือเข้าห้องน้ำและหลังเล่นของเล่น เพื่อลดเชื้อสะสมบนมือ และลดการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น และจัดให้มีพื้นที่ในการเข้าแถวทำกิจกรรม หรือเล่นเป็นกลุ่มย่อย โดยมีการเว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร
หากพบเด็กป่วย ให้รีบแยกออกจากเด็กปกติ และแจ้งให้ผู้ปกครองรับกลับบ้าน เพื่อพาไปพบแพทย์โดยเร็ว และให้หยุดเรียนจนกว่าจะหาย แยกของใช้ส่วนตัวของเด็กป่วยออกจากเด็กปกติ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับเด็กคนอื่นๆ งดไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัด