แนะประชาชนรับมือโรคติดต่อระบาดหน้าฝน

จากกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แจ้งเตือนโรคที่พบบ่อยในช่วงฤดูฝน มักเป็นโรคที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ เช่น โรคไข้หวัด, ไข้หวัดใหญ่, ไข้ไวรัสอาร์เอสวี, ปอดบวม, หลอดลมอักเสบ และโรคมือ เท้า ปาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากการได้รับเชื้อมาจากคนและสัตว์ รวมถึงโรคไข้เลือดออกที่มีสาเหตุจากยุงลายเป็นพาหะนำโรค

นายชวินทร์ ศิรินาค ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม.ได้เตรียมความพร้อมดูแลสุขภาพประชาชนในช่วงฤดูฝน ประกอบด้วย การเฝ้าระวังโรคและภัยสุขภาพจากรายงานของสถานพยาบาลต่างๆ รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทั้ง 68 แห่ง จัดทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT)

ขณะเดียวกันได้มีแนวทางส่งเสริมความรู้การดูแลรักษาสุขภาพแก่ประชาชน เช่น โรคติดต่อระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวม โรคติดต่อทางระบบทางเดินอาหารและน้ำ ได้แก่ อุจจาระร่วง อาหารเป็นพิษ โรคที่เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ได้แก่ มือ เท้า ปาก โรคที่เกิดจากยุงและสัตว์ต่างๆ ได้แก่ ไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา ไข้สมองอักเสบ ฉี่หนู โรคหรือภัยที่เกิดจากน้ำท่วม ได้แก่ ตาแดง และน้ำกัดเท้า รวมถึงภัยอันตรายที่มากับน้ำ ได้แก่ ไฟดูด จมน้ำ เหยียบของมีคม อันตรายจากสัตว์มีพิษ

นอกจากนี้ ได้มีหนังสือแจ้งเตือนมาตรการป้องกันโรคและภัยในช่วงฤดูฝน รวมถึงวิธีปฏิบัติตัวไปยังศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. ทุกแห่ง รวมทั้ง สำนักการศึกษา กทม. สำนักพัฒนาสังคม กทม. และสำนักงานเขต เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ในการดูแลรักษาสุขภาพแก่ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ประชาชนผู้มารับบริการ ผู้ปกครองและนักเรียนในสถานศึกษา