โรคเมลิออยโดสิส เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย พบได้ทั่วไปในดินและน้ำ ติดต่อจากการสัมผัสกับดินหรือน้ำ ผ่านทางบาดแผลที่ผิวหนัง หากมีอาการไข้นานเกิน 5 วัน ให้รีบไปพบแพทย์
โรคเมลิออยโดสิส (Melioidosis) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เบอโคโดเลีย สูโดมาลิอาย (Burkholderia pseudomallei) ซึ่งพบได้ทั่วไปในดินและน้ำ สามารถติดต่อจากการสัมผัสกับดินหรือน้ำ ผ่านทางบาดแผลที่ผิวหนัง หรือหายใจเอาฝุ่นจากดินหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อเจือปนอยู่เข้าไป เชื้อเมลิออยโดสิสสามารถอยู่ได้ในซากสัตว์ที่อยู่ในดินและน้ำ
สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคนี้ส่วนใหญ่คือ ผู้ที่มีอาชีพที่ต้องสัมผัสดินและน้ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคไต และผู้ที่มีสุขภาพอ่อนแอ เช่น ติดสุราหรือทานยากดภูมิคุ้มกัน โรคนี้ ก็อาจเข้าแทรกซ้อนได้ อาการโดยทั่วไปผู้ป่วยจะมีไข้สูง หรือมีไข้เป็นเวลานานโดยไม่ทราบสาเหตุ หายใจไม่สะดวก หรือหอบเหนื่อย ซึมแบบไม่รู้ตัว ผู้ป่วยบางรายมีอาการคล้ายโรคปอดบวมรุนแรง บางรายมีอาการคล้ายวัณโรค
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวถึงสถานการณ์โรคเมลิออยโดสิส ในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างว่า ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 กรกฎาคม 2563 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคเมลิออยโดสิส จำนวนทั้งสิ้น 10 ราย มีผู้เสียชีวิต จำนวน 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตทั้งหมดอยู่ในพื้นที่จังหวัดสงขลา (จะนะ, เมือง และหาดใหญ่) พบผู้ป่วยเพศชายมากกว่าเพศหญิง
โดยพบเพศชาย 8 ราย เพศหญิง 2 ราย กลุ่มอายุที่พบสูงสุดคือกลุ่มอายุ 55 – 64 ปี รองลงมาคือ กลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป และกลุ่มอายุ 35 – 44 ปี โดยอาชีพที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ อาชีพเกษตรกรรม และรับจ้าง และจากการสุ่มตรวจหาเชื้อเมลิออยโดสิส ในดิน โดยคณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี พ.ศ. 2563 พบเชื้อเมลิออยโดสิส ในอำเภอเมือง, จะนะ, สะบ้าย้อย, สะเดา และคลองหอยโข่ง
ขอแนะนำการปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตนเองให้ปลอดภัย จากโรคเมลิออยโดสิส คือ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดินและน้ำโดยตรง หากต้องสัมผัสดินหรือ น้ำ เช่น ทำการเกษตร จับปลา ลุยน้ำ หรือลุยโคลน ควรสวมรองเท้าบูท ถุงมือยาง กางเกงขายาว หรือชุดลุยน้ำ และควรทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาด และฟอกสบู่ทันที รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดบาดแผลเมื่อต้องสัมผัสดินและน้ำหากมีแผลถลอก ซึ่งสัมผัสกับดินหรือน้ำควรทำความสะอาดทันที ในบุคคลที่มีอาการของโรคเบาหวาน และมีบาดแผลรุนแรง ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับดินและน้ำ นายแพทย์เฉลิมพล กล่าว
นอกจากนี้เน้นย้ำประทานอาหารสุกสะอาด ไม่ประทานอาหารที่ปนเปื้อนจากดิน ฝุ่นดิน หลีกเลี่ยงการสัมผัสลมฝุ่น และการอยู่ท่ามกลางสายฝน ทั้งนี้ หากมีอาการไข้นานเกิน 5 วัน หรือมีบาดแผลอักเสบเรื้อรัง ควรรีบไปพบแพทย์ทันที หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคเมดิออยโดสิส สามารถโทรศัพท์สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422