สุขอนามัยกับการล้างมือ

มือนำเชื้อโรคอะไรได้บ้าง

โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ เช่น หวัด วัณโรค ไข้หวัดใหญ่ โรคหัด โดยติดต่อผ่านการหายใจเอา เชื้อโรคเข้าไป และติดต่อได้จากการที่มือสัมผัสกับสิ่งของ เครื่องใช้ หรือสิ่งคัดหลั่งของผู้ป่วย (น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เลือด)

โรคติดต่อระบบทางเดินอาหาร เช่น อุจจาระร่วง อหิวาตกโรค อาหารเป็นพิษ โรคตับอักเสบชนิดเอ โรคพยาธิชนิดต่างๆ การติดต่อเกิดจากการที่มือปนเปื้อนเชื้อเหล่านั้น แล้วหยิบจับอาหารรับประทาน

โรคติดต่อจากการสัมผัสได้โดยตรง เช่น โรคตาแดง โรคเชื้อรา แผลอักเสบที่ผิวหนัง หิด เริม การติดต่อ เกิดจากมือไปสัมผัสแผล ฝี หนอง โดยตรง แล้วมาสัมผัสกับส่วนต่างๆ ของร่างกาย

โรคติดต่อที่รุนแรง เช่น โรคไข้หวัดมรณะ (SARS) โรคไข้หวัดนก การติดต่อเกิดจากการรับ เชื้อทางระบบทางเดินหายใจ หรือมือไปสัมผัสกับสิ่งคัดหลั่งต่างๆ (น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ เลือด) จากสัตว์ปีกที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัดนก

การล้างมือสำคัญอย่างไร

มือ เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคต่างๆ ได้ เมื่อใช้มือหยิบจับอาหาร หรือสิ่ง ของต่างๆ และมือสามารถนำเชื้อโรคไปปนเปื้อนสิ่งของรอบๆ ตัว ทำให้ผู้อื่นได้รับเชื้อโรคไปด้วยการล้างมือให้สะอาดอย่างถูกวิธี จึงเป็นวิธีที่มีความสำคัญ เพื่อป้องกัน ไม่ใช้เชื้อโรคต่างๆ เข้าสู่ร่างกาย

จากการศึกษาทางการแพทย์พบว่า
  • การศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่าการล้างมืออย่างถูกวิธีเป็นเวลา 15 วินาที สามารถลดเชื้อโรคได้ถึง 90%
  • การล้างมือทางการแพทย์จะช่วยลดอัตราการเกิดโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี
  • การล้างมือ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคตาแดง จะเป็นวิธีการป้องกันการระบาดของโรคได้
  • การล้างมือของผู้ประกอบอาหาร สามารถป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหารได้
เมื่อไหร่จึงควรล้างมือ

ในชีวิตประจำวัน ควรล้างมือในกรณีต่างๆ คือ
  • ล้างมือก่อนการเตรียม และปรุงอาหาร
  • ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
  • ล้างมือหลังการขับถ่าย
  • ล้างมือก่อน และหลัง สัมผัสผู้ป่วย
  • ล้างมือหลังเสร็จกิจกรรมที่ทำให้มือสกปรก